กินอาหารดีมีประโยชน์ ออกกำลังกาย นอนหลับพักผ่อน ไม่เครียด บาลานซ์ชีวิต บลา ๆๆๆ เรื่องเหล่านี้เชื่อว่าใครก็รู้ แต่จะมีสักกี่คนที่ทำได้จริงและสม่ำเสมอ เราคนหนึ่งล่ะ ที่คิดจะทำมาตลอด แต่ก็ท่าดีทีเหลว มีช่วงหลังที่เริ่มตระหนักมากขึ้น
ยิ่งตั้งแต่ช่วงที่พ่อไม่สบาย หมอวินิจฉัยว่าสงสัยจะหลอดเลือดในสมองตีบ ซึ่งแน่นอนว่าหากตีบหรือแตก ไม่เป็นเรื่องดีสำหรับใครเลย ทั้งผู้ป่วยและคนดูแล จะกระทบทั้งร่างกายและจิตใจต่าง ๆ นานา ของพ่อถือว่ายังโชคดีมากที่อาการยังไม่เป็นถึงขั้นนั้น แต่นี่คือสัญญาณเตือนที่ค่อนข้างชัดเจน สาเหตุสำคัญมาจากพฤติกรรมทั้งนั้นเลย โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง หรือ NCDs (non-communicable diseases) ที่อัตราการเสียชีวิตของประชากรโลกเพิ่มมากขึ้นทุกวันจากการสะสมของร่างกายในการดำเนินชีวิตประจำวันของเรา ๆ นี่ล่ะ
แต่ด้วยอาการจะไม่ได้เกิดขึ้นในทันทีทันใด บางคนสะสมพฤติกรรมนานเป็น 10 ปี ถึงจะแสดงอาการ หมอก็เคยบอกว่าถึงแม้เราจะตรวจร่างกายอยู่เสมอ แล้วผลปกติ อย่าชะล่าใจว่าไม่เป็นอะไร เพราะยังไม่เจอก็ไม่ได้หมายความว่าไม่เป็นนะ แค่อาการยังไม่มากพอที่จะตรวจเจอ พวกโรคอย่างเบาหวาน ความดัน ไขมันต่าง ๆ พวกนี้ ในขั้นที่แสดงผลออกมา นั่นคือยากจะควบคุมละ ต้องใช้ยาช่วยเป็นหลัก และก็อย่างที่รู้ว่าผลข้างเคียงของยาก็นำไปสู่โรคต่าง ๆ ที่ทวีความเสี่ยงมากขึ้นอีก ถึงเวลานั้นจะย้อนกลับมาป้องกัน ก็ไม่ทันละ ทำได้คือควบคุมรักษา แล้วยิ่งถ้าคนไข้หวังพึ่งยาอย่างเดียว โดยไม่ปรับพฤติกรรมควบคู่ไปด้วยล่ะก็ เปอร์เซ็นต์การหายหรือจะดีขึ้นจะยิ่งน้อยมาก ๆ อันนี้เราเห็นจากคนใกล้ตัวเลย
ยาคือปลายเหตุ ยับยั้งอาการได้ชั่วครั้งชั่วคราว ตัวเราต่างหากที่เป็นต้นเหตุ แก้/ปรับที่ต้นเหตุจะได้ผลระยะยาวที่ยั่งยืนได้จริง แต่ด้วยความท้าทายในชีวิตมนุษย์แต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน ทุกคนมีภาระต่าง ๆ มากมาย ซึ่งเราก็เข้าใจได้นะ ที่ทำให้เป็นเหตุผลหรือจะข้ออ้างก็ตามแต่ ที่ทำให้เรายังคงต้องมีพฤติกรรมที่ไม่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตของเราในบั้นปลายได้เลย
เรื่องภาระของชีวิตนั้นเข้าใจได้ก็จริง แต่เราว่ามันต้องมีขอบเขตแหละ ในฐานะที่ใช้ชีวิตบนโลกใบนี้มา 41 ปี เราก็ผ่านช่วงชีวิตหนัก ช่วงผ่อนคลายบ้าง (แต่รู้สึกว่าช่วงเบาสบายไม่ค่อยจะมี เพราะชอบหาเรื่องลำบากตลอด ๆ เฮ้อ ไม่รู้ทำไมสินะ) จริง ๆ มันก็แค่ว่าเราให้ความสำคัญกับสิ่งไหนอยู่ แน่นอนล่ะ เราจะบอกว่าเรามีภารกิจการงานที่ยุ่งมาก ต้องทำงาน ทำมาหากิน เพื่อเป้าหมาย เพื่อความสำเร็จ เพื่อเงินทอง เพื่อวันข้างหน้า เพื่อคนที่เรารัก เพื่อ ๆๆๆ … เราก็เลย ละเลยที่จะทำเพื่อร่างกายของตัวเอง ที่เราใช้งานมันอย่างหนักหน่วงเพื่อให้ได้ตามเหตุผลข้างต้นนั้น
สำหรับตัวเราเอง ก็ยังปรับไม่ได้ทั้งหมดหรอก ทำมาหลายวิธีเหมือนกัน มีทั้งได้ผลและไม่ได้ผล ทั้งจากวิธีการทั้งจากความเหยาะแหยะของเราเอง ที่ไม่ตลอดรอดฝั่ง และก็ข้ออ้างอีกนานัปการ แต่เราก็ไม่ล้มเลิกเรื่องเหล่านี้นะ เราหาวิธีที่เหมาะกับตัวเอง ปรับตามบริบทวิถีชีวิตที่ทำได้แบบที่ไม่ฝืนตัวเองเกินไป แต่วิธีการก็ไม่สำคัญเท่าเป้าหมาย ถ้าเราเป้าหมายชัดว่าทำไปทำไม ทำไมต้องทำ วิธีการมันก็มาเองแหละ แค่วางระบบมันนิดหน่อย อ่อ สำหรับเราเป้าหมายก็คืออยากอยู่อย่างมีคุณภาพ ถ้าเราอยู่ถึง 70 – 80 ปี เราจะต้องอยู่อย่างแข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจให้ได้ (เรื่องความแข็งแรงนี่ เราก็อยากเขียนเรื่องนี้ของตัวเองมากเลย เอาไว้ครั้งหน้าค่อยขยายความเล่าเรื่องนี้)
ในช่วงงานหนังสือ เป็นช่วงที่พ่อเข้า รพ. เราก็ขนซื้อหนังสือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพมามากมายหลายเล่ม (อ่านจบจริง ๆ ก็แค่ 4 เล่ม) กะจะทำความเข้าใจมันอย่างจริง ๆ จัง ๆ ไม่อยากอ่านจากแหล่งที่มาที่ไม่น่าเชื่อถือ คืออยากมีหลักวิชาการไปคุยกับพ่อ คุยกับแม่ หรือคนใกล้ตัวที่เราห่วงใยแหละ เพราะคนที่เป็นผู้ใหญ่กว่าเราโดยเฉพาะพ่อแม่ เขาก็จะมีความเชื่อมั่นตัวเขาเอง โดยเฉพาะพ่อที่ต้องมีหลักวิชาการสักหน่อย ถึงจะโน้มน้าวได้ และอีกอย่างก็กะจะดูแลตัวเองให้ได้ผลลัพธ์เป็นตัวอย่างสักหน่อย
ระหว่างอ่านเราก็โน้มน้าวพ่อและแม่ โน่นนี่นั่น แต่ก็ดูเหมือนจะไม่เป็นผลเท่าไหร่ เราว่าเขาไม่ได้โฟกัสหรือตั้งเป้าที่จะดูแลตัวเองกันสักเท่าไหร่ ประกอบกับมีความเชื่อบางอย่างที่คิดว่าสิ่งที่ทำอยู่ อาจดีอยู่แล้วมั้ง ก็ได้แต่เหนื่อยใจจัง
ไม่ต้องรุ่นพ่อรุ่นแม่หรอก ขนาดเพื่อนที่ทำงาน คนรอบข้าง เห็นเราเริ่มเลือกอาหารการกิน ก็จะมีแบบคำพูดโน่น นี่ นั่น คิดว่าเราห่วงสวย รักษาหุ่นไรงี้ เฮ้อ… (อันนั้นเป็นผลพลอยได้ที่ดีงามเลยล่ะ) แต่เราก็ไม่ได้ใส่ใจหรอก แค่เหนื่อยที่จะอธิบาย หรือบอกใครด้วยความหวังดี อยากให้เขาได้ดูแลตัวเองบ้าง ก็ทำได้แต่บอกตัวเองว่า เรานั่นล่ะที่ต้องทำให้ได้จริง ๆ แบบตลอด ทำให้เป็นนิสัยได้ซะก่อน แล้วผลลัพธ์มันก็จะเป็นตัวบอกเป็นคำอธิบายเอง เพราะเรื่องพวกนี้จะใช้เวลาหน่อยกับการที่จะเห็นผล ตัวเราเองก็ยังไม่ได้เห็นผลอะไรมากมาย
เราว่าการดูแลตัวเองของแต่ละคนไม่เหมือนกันนะ สำหรับเรา เราหันมาดูมาวิเคราะห์สิ่งที่ตัวเองเคยเป็นมาตลอด ทั้งการใช้ชีวิต พฤติกรรมอะไรที่ส่งผลดีหรือส่งผลเสีย มีปัญหาร่างกายอะไรที่สะสมอยู่บ้าง และควรจะปรับแบบไหนที่ไม่ทำให้ชีวิตประจำวันเรารวนไป ซึ่งเขาว่าการกินส่งผลต่อร่างกาย 80% ออกกำลังกายแค่ 20% เท่านั้น (ไม่นับรวมพวกเรื่องทางจิตใจ ความเครียด อันนั้นก็ส่งผลหนัก) ถึงจะดูแลควบคุมการกิน แต่เราก็ไม่เคยอดนะ กินครบทุกมื้อ แค่เลือกว่าจะกินอะไรมากกว่า
จึงเป็นที่มาให้เราหันมาทำอาหารกินเองในวันที่ทำได้ จัดระบบตัวเองให้ยุ่งยากน้อยที่สุด เพราะถ้ายุ่งมาก รบกวนภารกิจระหว่างวันเกินไป เราจะทำได้ไม่นานเดี๋ยวก็เลิก
แต่วันนี้เขียนยาวละ ไว้ครั้งหน้าค่อยมาเล่ามาอวดหน้าตาอาหารในแบบฉบับที่ –> เป็นฉันนี่ล่ะ
เพราะ “การกินดี อยู่นาน คือของขวัญชีวิต” ที่หมอแอมป์ (นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ) ได้กล่าวไว้ตามชื่อหนังสือ
Leave a Reply