อิสรภาพที่ใครก็ใฝ่หา

ความหิวโหย อดอยาก สภาพเบื้องหน้าที่โหดร้าย นำไปสู่การดิ้นรนแสวงหา “อิสรภาพ” การเดินทางสู่โลกใบใหม่ ทั้ง ๆ ที่ไม่อาจรู้เลยว่า จะมีอะไรที่โหดร้ายกว่าหรือไม่

เกาหลีเหนือ ภายใต้ระบอบการปกครองแบบสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ หลังจากคาบสมุทรเกาหลีถูกแบ่งการปกครอง เมื่อครั้งสิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2
คิม อิล ซุง อดีตทหารยศพันตรีของกองทัพสหภาพโซเวียตในช่วงเวลานั้น ท่านผู้นำคนแรกของเกาหลีเหนือ วางนโยบายระบบเศรษฐกิจจากส่วนกลาง การทำมาหากินทุกอย่างถูกควบคุมจากรัฐบาลแบบเบ็ดเสร็จ ประชาชนได้รับการปันส่วนตามสมควร
แต่นั่นก็ขึ้นอยู่กับสถานภาพซองบัน พูดง่าย ๆ ก็คือการแบ่งระดับชนชั้นของผู้คน ใครที่มีสถานะซองบันในระดับล่าง ไม่มีเส้นสายนายทหาร ไม่ใช่สมาชิกพรรคแรงงาน และไม่สามารถพิสูจน์ความจงรักภักดีที่มีต่อท่านผู้นำได้ ก็จะต้องหาหนทางของความเป็นอยู่ ให้ตัวเองมีชีวิตรอดปลอดภัย
แม้กระนั้น หากเดิมทีมีสถานะซองบันที่ดี แต่วันหนึ่งมีใครสักคนในครอบครัวทำผิดคิดร้าย ถือเป็นอาชญากรต่อประเทศชาติ นั่นหมายถึงกระทบต่อความเป็นอยู่ทั้งต่อตัวเองและเครือญาติ ถูกปรับระดับซองบันให้ต่ำลงได้โดยง่าย
ความยากลำบากที่ต้องเผชิญในช่วงทศวรรษ 1990 ภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง ประชากรล้มตายนับล้าน ความเป็นอยู่ที่อดอยากทั้งอาหาร และทั้งขาดความปลอดภัยในชีวิต สิทธิในการพูดคุยแสดงความคิดเห็น หากคิดอ่านสิ่งใดที่ไม่อยู่ในขอบเขตความเคารพท่านผู้นำ นั่นอาจหมายถึงการสิ้นสุดของลมหายใจ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน สาธารณูปโภคการรองรับที่ไม่อาจจัดหามาได้
และนี่คงเป็นเหตุผลของการหลบหนีของผู้แปรพักตร์หลายพันหลายหมื่นชีวิต แม้จะยากลำบาก เสี่ยงอันตรายถึงชีวิต แต่จะต่างอะไรกับการยังอยู่ที่เดิม
ยอนมี ปาร์ก หนึ่งในผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ ผ่านคืนวันอันโหดร้าย สิ่งที่เธอเผชิญเกินกว่ามนุษย์หนึ่งคนจะรับไหว ไม่ว่าจะการต้องพลัดพรากบุคคลอันเป็นที่รัก ต้องตกอยู่ในอำนาจการหลอกลวงของพวกค้ามนุษย์ ผู้เป็นแม่เสียสละถูกข่มขืนแทนเธอ ต้องตกเป็นเมียน้อยของนายหน้าชาวจีน ถูกบังคับให้ลักลอบทำงานหลบหนีตำรวจ เสี่ยงชีวิตข้ามน้ำ ข้ามภูเขา ข้ามทะเลทรายอันหนาวเหน็บ และอีกนานัปการ แต่เส้นทางของความขมขื่น ก็ได้หยิบยื่นความแข็งแกร่งให้เธอได้มีแรงต่อสู้ ขอเพียงแค่อาหารสักมื้อ และในที่สุดเธอก็ได้พบกับอิสรภาพ สามารถเป็นประชากรเกาหลีใต้ได้สำเร็จในปี 2009 ด้วยวัยเพียง 16 ปี
หากแต่ชีวิตของเธอเพิ่งเริ่มต้น ยอนมี ปาร์ก พยายามเรียนรู้การเป็นคนเกาหลีใต้ ไม่ง่ายเลย กับอดีตที่ไม่เคยรับรู้เรื่องราวของโลกภายนอก การจะปรับตัวให้มีชีวิตอยู่รอด แต่มีคนบอกเธอว่า ที่นี่ หากทำงานหนัก เธอจะได้รับรางวัล ดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อสำหรับเธอ เพราะในเกาหลีเหนือนั้น ต้องมีซองบันที่ดีจึงจะได้ผลตอบแทน แต่นับจากนั้นมุมมองและความเชื่อของเธอเปลี่ยนไป
ยอนมี ปาร์ก พยายามเติมเต็มตัวเองจากสิ่งที่ขาด ความรู้ของเธอเทียบเท่าระดับเด็ก ป.2 แต่สิ่งที่จะทำให้เธอมีชีวิตอยู่ได้ในสังคมนี้ เครื่องมือเดียวคือความรู้ เธอมุ่งโฟกัสให้กับการศึกษา แม้จะโดนปฏิเสธจากโรงเรียนด้วยระดับความรู้ของเธอ แต่เธอไม่เคยย่อท้อ พยายามครั้งแล้วครั้งเล่าพิสูจน์ตัวเอง ถึงแม้จะใช้เวลา แต่เธอก็สามารถเข้าเรียนในโรงเรียนได้รับใบประกาศนียบัตรจบชั้นมัธยมตอนปลายได้สำเร็จ เธอใช้เวลาอยู่กับห้องสมุดและการอ่านหนังสือ ตั้งเป้าอ่านให้ได้ 100 เล่ม ต่อปี อ่านอย่างโหยกระหายในวิชาความรู้ การอ่านหนังสือของเธอเปรียบเสมือนคนทั่วไปที่หายใจเอาออกซิเจนเข้าปอดให้กับร่างกาย แต่เธออ่านหนังสือเพื่อให้มีชีวิตอยู่ อ่านตั้งแต่หนังสือเด็กที่แปลเป็นภาษาเกาหลี สิ่งที่เธอชอบอ่านคือชีวประวัติของคนสำเร็จ ทำให้ได้เรียนรู้การเอาชนะอุปสรรคต่าง ๆ นอกจากนี้ เธอก็ยังพยายามฝึกฝนและพัฒนาภาษาอังกฤษ
เธอมุ่งมั่นตั้งใจจะเป็นตำรวจ อาชีพที่เธอเคยหวาดกลัว ขวัญผวาทุกครั้งที่ได้พบเห็น แต่ด้วยที่เธออยากผดุงความยุติธรรมให้กับแม่และตัวเอง
เธอฝ่าฟันอีกครั้ง เพื่อที่จะสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในกรุงโซล ด้วยพื้นฐานการเรียนของเธอที่ไม่เหมือนชาวเกาหลีใต้ทั่วไป ซึ่งเป็นที่รู้กันว่าที่นี่มีแต่เด็กเก่ง ๆ ที่ส่วนมากต้องโรงเรียนกวดวิชาทั้งนั้น แต่เธอตอบผู้สัมภาษณ์อย่างมาดมั่น ว่าในขณะที่เด็กเหล่านั้นเรียนรู้อยู่ในโรงเรียน
แต่เธอได้เรียนรู้จากชีวิต เธอจึงมีสิ่งที่คนอื่นไม่มี
และแล้วเธอก็สามารถเข้าเรียนที่มหาวิทยาลัยทงกุก ในภาควิชากระบวนการยุติธรรมทางอาญา ผ่านไป 2 เทอม เธอสอบได้ที่ 34 และที่ 14 ตามลำดับ จากจำนวนนักศึกษากว่า 90 คน เธอพิสูจน์ตัวเองได้สำเร็จ
จากนั้นเธอก็ได้มีโอกาสออกมาพูดถึงเรื่องราวในชีวิตเธอผ่านรายการทีวี เป็นผลให้เธอถูกรับเชิญในอีกหลายเวทีในฐานะนักพิทักษ์สิทธิมนุษยชน
แน่นอนว่า เรื่องราวที่เธอถ่ายทอดไม่มีใครอาจล่วงรู้ถึงความเป็นจริงได้ เมื่อมีการเผยแพร่ออกสู่วงกว้าง ย่อมมีเสียงสะท้อนกลับทั้งด้านดีและไม่ดี
แต่อย่างไรก็ตาม แนวความคิดและการต่อสู้ชีวิตของเธอ ก็เป็นตัวอย่างให้เราเรียนรู้ได้ในหลายประเด็น
หลายครั้งที่มีข่าวคราวออกมาให้เห็น ผู้แปรพักตร์ชาวเกาหลีเหนือ เมื่อมาเป็นประชากรของเกาหลีใต้แล้ว ถึงแม้จะได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบาลช่วยเหลือให้เป็นรายเดือนในระยะหนึ่ง แต่การครองชีพในเมืองเศรษฐกิจทุนนิยมที่มีการแข่งขันกันสูง ไม่ใช่เรื่องที่ใครก็จะปรับตัวได้ บางคนถึงกับอดตาย ไร้ญาติเหลียวแล บางคนไม่รู้การทำมาหากินในเมืองใหญ่ ด้วยความไม่คุ้นชิน
หากแต่ยอนมี ปาร์ก ไม่ยอมปล่อยชีวิตให้เป็นเรื่องของโชคชะตา เมื่อไขว่คว้าจึงได้มา
👉👉 ทำงานอย่างหนัก เราจะได้รับรางวัล
รางวัลในที่นี้ ไม่ใช่โล่หรือเข็มเกียรติยศใด หากแต่มันคือความสำเร็จที่ตอบแทนความอดทน มุ่งมั่นและทุ่มเท ในโลกใบนี้ ไม่มีอะไรได้มาง่าย โดยไม่ต้องแลก ไม่มีใครได้ความสำเร็จ โดยไม่ผ่านการทำงานหนัก ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ทำงานหนักให้ถูกทาง ยังไงก็ได้รางวัลแน่นอน
👉👉 ต้นทุนน้อย แต่พยายามมาก ยังไงก็ตามทัน
ไม่มัวมานั่งคิดว่าตัวเองพื้นฐานไม่ดี ต้นทุนต่ำ เกิดมาไม่รวยไม่พร้อมเหมือนใครเขา
แต่ในทางกลับกัน เอาตรงนั้นมาเป็นบันได
เราไม่มีเหมือนคนอื่น แต่คนอื่นก็ไม่มีเหมือนที่เรามี ทุกอย่างที่หล่อหลอมเป็นตัวเราแล้ว เป็นรากฐานที่ดีเสมอ
Cr. หนังสือ “มีชีวิต…เพื่ออิสรภาพ In Order to Live” : Maryanne Vollers / อรดา ลีลานุช แปล
Cr.pic : pixabay
Repost from BD : Feb 28, 2020 at 07.59 pm.

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *