ทุกช่วงเวลา ให้เราได้เรียนรู้
ตั้งแต่เล็กจนเติบใหญ่
หลายทฤษฎีมีกล่าวไว้
ว่ากี่ขวบกี่ปีควรมีควรสร้างอะไรกัน
วันนี้ไม่ขออิงตำราเล่มอื่นใด
ประสบการณ์ชีวิตล้วน ๆ มาชวนคิด
👉 ช่วงเวลาวัยเด็กพอรู้ความ
ถูกนิยามให้ตามคุณครูและพ่อแม่
เข้าเพียรเรียนประถมมัธยมจบเรื่อยมา
ได้ร่ำเรียนเขียนอ่าน จึงได้รู้ความตามตำรา
หากแต่สังคมนิยมชมสิ่งใด
ขึ้นอยู่กับวัยและปัจจัยแวดล้อมที่โอบเอื้อ
👉 ช่วงเวลาวัยรุ่นว้าวุ่นจิต
เริ่มหัวเลี้ยวหัวต่อ สิ่งลวงล่อมากมีที่เข้ามา
หากฐานคิดและภูมิคุ้มกันดีนั้นมีทางรอด
แต่จะดีจะพลาดจะผิดนั้น ก็ขออย่าหวั่นจิต
ผิดเป็นครู ให้รู้ไว้อย่าผิดซ้ำ
ให้พร่ำคิดทวนย้ำแล้วจำแก้
และรู้เพิ่ม เติมพัฒนาการทุกบทเรียน
ที่วันผันผ่านได้ทดสอบ
👉 ช่วงเวลาวัยทำงานมุ่งหน้าไป
หางานได้มีเงินใช้แม้อาจไม่พอต้องขอพ่อแม่
แต่ภูมิใจดูเท่เก๋กว่าตอนเรียนเป็นไหน ๆ
ต่างคนต่างไลฟ์สไตล์ว่ากันไป
เปรียบเหมือนออกเรือมุ่งหน้าทิศทางของตน
บ้างสำเร็จในงานการอาชีพตามเป้าหมาย
บ้างหลงทางหลงทิศจิตตกวกวนอยู่ตรงนั้น
ถึงกระนั้นจะสมหวังหรือผิดหวัง ต่างก็ได้เรียนรู้
–>> พอถึงช่วงเวลาวัยนี้
ไม่มีใครไม่เคยไม่พลาดผิด
จะนิดจะน้อยจะใหญ่ ยังไงก็มีบ้างเป็นธรรมดา
และบางทีหากนำบทเรียนเขียนรวมเล่มเป็นตำรา
คงได้หนากว่างานวิจัยเล่มไหน ๆ
👉 ช่วงเวลาวัยเกษียณเพียรมาถึงคราหยุด
โอ้ … 60 แล้วหรือนี่
ยังไม่ทันได้สร้างตัว
มัวระเริงหลงอยู่ในวังวนคนสู้ชีวิต
พอจะมาใช้ชีวิต อาจไม่เป็นสมดั่งหมาย
ไม่หยุดก็ได้ ทำงานต่อเพราะเรายังมีแรง (ใช่หรือ?!)
–>> แต่ช้าก่อน บั้นปลายของชีวิตอาจไม่เป็นเช่นกล่าวมา
ขอเพียงช่วงเปลี่ยนผ่านของวัยตั้งใจให้ได้เรียนรู้อย่างลึกซึ้ง
กำหนดแผนแนวทางการเชิงยุทธ์ เร่งรุดพัฒนาเป็นอาจิณ
ไม่อาจหยุดหายใจได้ฉันใด ไม่หยุดพัฒนาได้ก็ฉันนั้น
เพราะทุกช่วงเวลา ให้เราได้เรียนรู้
Repost from BD : Mar 1, 2020 at 05.33 pm.
Leave a Reply