ทำไมนักท่องเที่ยวต้องมาชัยนาท ใคร ๆ ก็บอกว่าเราเป็นเมืองผ่าน ไม่ใช่เมืองพัก ไม่มีอะไรน่าเที่ยว ไม่มีอะไรดึงดูด ก็ไม่ปฏิเสธว่าก่อนหน้านั้นเราก็คิดอย่างนั้น แต่เมื่อได้มาสัมผัสถึงจะเพียงแค่ไม่กี่วันก็เถอะ ความรู้สึกเราก็เปลี่ยนไป
แต่มันก็จะยังเป็นคำถามที่วนเวียนอยู่ในหัวเรานี่ล่ะ ที่ต้องหาคำตอบ คาดว่าทุกอย่างจะค่อย ๆ คลี่คลายในทุกวันที่เราได้สัมผัสจากหลายแง่มุม
ทำไมเขาต้องมาหาเราที่นี่? –> ที่ชัยนาท เรามีอะไรที่แตกต่างจากคนอื่น? แล้ววันนี้เราจะทำอะไรได้บ้าง? ปฏิบัติการหาคำตอบเริ่มต้น ทั้งจากการสอบถามผู้คน แอบเสาะหาลัดเลาะไปตามที่ต่าง ๆ ดูจากข้อมูลเก่า ๆ และสถิติตัวเลขต่าง ๆ ที่พอจะดูได้ดูทันในเวลานี้
มีความแอบเครียดกับการอยากรีบรู้ทุกอย่าง อยากได้เห็นได้สัมผัสเพื่อรับรู้เรื่องราวและข้อมูล แต่ก็ได้แต่บอกตัวเองว่าาเราไม่ได้อยู่ที่นี่แค่วันนี้พรุ่งนี้ อย่างน้อยก็เป็นปีล่ะน่าา ก็ไม่รู้หรอกนะว่าจะ 1 ปี หรือ 5 ปี หรือ 10 ปี ก็ไม่อาจคาดเดาอนาคตได้ ใจเย็นลงสักนิดค่อย ๆ เรียนรู้ไป
แต่สิ่งที่เร่งด่วนตอนนี้ กับข้อเสนอโครงการที่อยากทำ ถ้าไม่คิดอะไรมากมันก็มีแหละ โครงการแบบพิมพ์นิยมที่ใครเขาก็ทำกัน แต่เราว่าไหน ๆ ก็มีโอกาสได้คิด ก็เอาอะไรที่มันจะเกิดประโยชน์ได้แบบตรงจุดบ้างไม่มากก็น้อย เพราะส่วนใหญ่แล้วถ้าเรามาใหม่แบบนี้ เรามักจะไม่ได้คิดโครงการที่ทำในปีนี้ได้หรอก ส่วนมากคนทำไม่ได้คิด คนคิดไม่ได้ทำ เพราะด้วยห้วงเวลาแหละที่มันต้องมีสเต็ปขั้นตอนแบบนั้น
ว่าด้วยเรื่องสถิติ
จากข้อมูลตอนนี้ที่สืบค้นเจอ นักท่องเที่ยวชัยนาทแน่นอนว่าส่วนมากเป็นคนไทย มีต่างชาติไม่ถึง 1% และเป็นนักทัศนาจร (Excursionist) มากกว่านักท่องเที่ยว (Tourist) คือส่วนใหญ่มาแล้วไม่พักค้างนั่นล่ะ
รายได้จากการท่องเที่ยว ปี 2562 อยู่ที่ 1,336.56 ล้านบาท มากว่าปี 2561 ที่ 1.13%
จำนวนนักท่องเที่ยว ปี 2562 อยู่ที่ 853,942 คน เพิ่มขึ้นจากปี 2561 ที่ 0.36%
ส่วนปี 2563 คงวัดอะไรไม่ได้มากนัก ด้วยสถานการณ์โควิด ทุกอย่างติดลบไปมากกว่า 50%
เราจึงดูจากปี 2562 กับ 2561 ในสถานการณ์ปกติเป็นหลัก และพบว่าใน 1 ปี ช่วงที่มีนักท่องเที่ยวมากสุดเป็นไตรมาส 2 ของปี คือ เม.ย. – มิ.ย. ปัจจัยที่ส่งผล อันนี้ต้องขอไปหาคำตอบอีกที จะเป็นเพราะงานเทศกาลสงกรานต์ หรืองานประเพณีต่าง ๆ หรือเปล่าอันนี้ยังไม่มีข้อมูลแน่ชัด
ในส่วนที่น้อยสุดคือไตรมาส 3 เดือน ก.ค. – ก.ย. ปัจจัยที่ส่งผล ถ้าพูดแบบโดยทั่วไปก็คือเป็น low season หน้าฝน ก้ไม่แน่ใจอีกว่าใช่หรือเปล่าสำหรับที่นี่
ในส่วนอันดับนักท่องเที่ยวของจังหวัดชัยนาท หากเทียบกับ 76 จังหวัดแล้ว อยู่ในอันดับที่ 63 ทั้งปี 2562 และ 2561 ก็รั้งท้ายพอสมควร
กลับมาดูในส่วนของรายได้ภาคการท่องเที่ยวของจังหวัด ก็พบว่าตัวเลขมีความผิดปกตินิดนึง ไตรมาส 1 มีนักท่องเที่ยวพักค้าง (จำนวนห้องพัก) สูงกว่าช่วงไตรมาส 2 ทั้ง ๆ ที่จำนวนนักท่องเที่ยวแบบ Tourist น้อยกว่าไตรมาส 2 แต่เราสันนิษฐานว่า ไตรมาส 1 และ 4 บางทีตัวเลขอาจมีการคาบเกี่ยวกัน เพราะเป็นช่วงเทศกาลปีใหม่ อาจมีส่วนว่าเป็นข้อมูลจากไตรมาส 4 มามีส่วนคิดรวมกับไตรมาส 1 ก็อาจเป็นได้มั้ง (ค่อย ๆ หาความกระจ่างอีกที)
Fact ที่ได้เห็นในวันนี้
ชัยนาทนอกจากสวนนกที่เรียกว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวหลักก็ว่าได้ (ซึ่งก็ยังไม่เคยไปเลยนะ – เขายังไม่เปิดให้เข้า) เพราะใคร ๆ ก็พูดแต่ว่า มาชัยนาทไม่มีอะไรนอกจากสวนนก อ่อ ก็ว่ากันไป
ช่วงนี้เราไม่รู้ว่าเป็นเพราะกระแสร้านกาแฟ คาเฟ่ต่าง ๆ มาแรงด้วยหรือเปล่า เพราะจังหวัดชัยนาทมีร้านกาแฟที่เปิดขึ้นใหม่เยอะมากกกกก ซึ่งเราก็ว่าน่าจะเป็นทั่วทั้งประเทศ แต่ที่ชัยนาทที่เรามาสัมผัสนี่ ร้านใหม่แทบทั้งนั้น ส่วนมากเปิดในช่วงโควิด ปี 63 ด้วย แล้วก็ยังอยู่ได้ ถึงแม้อาจจะมีซบเซาบ้าง แต่ก็ยังยืนอยู่ และก็ยังมีข่าวว่าร้านโน้นร้านนี้เปิดใหม่ไม่เว้นแต่ละวันที่เรามาเลย (ว่าจะลงสถานที่ในแพลตฟอร์มท่องเที่ยวก็ยังไม่มีเวลาสักทีเลย)
ร้านกาแฟวิวทุ่งนา ที่เป็นที่นิยมมากช่วงนี้ทุกจังหวัด ยิ่งมีบันไดสีขาวด้วย โอ้ยยิ่งใช่ ก็ยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำเหมือนกัน 555 และแน่นอนว่าที่ชัยนาทก็มี
แต่ที่เราสังเกต จุดเด่นของร้านกาแฟหรือร้านอาหารต่าง ๆ ของชัยนาท ที่ตั้งมีความได้เปรียบด้วยส่วนใหญ่ติดแม่น้ำเจ้าพระยา ชัยนาทเรามีเขื่อนเจ้าพระยาที่ถือเป็นศักยภาพสำคัญของจังหวัดเลยล่ะ ทั้งช่วยเรื่องพืชผลทางการเกษตร และยังนำมาซึ่งความอุดมสมบูรณ์ ในน้ำมีปลาในนามีข้าว บรรยากาศความร่มรื่นต่าง ๆ วิถีลุ่มเจ้าพระยาที่แท้จริง
อันที่จริงหลายจังหวัดในภาคกลางก็ติดแม่น้ำเจ้าพระยานะ แต่เราว่าก็ยังมีความแตกต่าง เช่น อยุธยา ถ้าเป็นโลเกชั่นร้านอาหารริมน้ำก็ส่วนมากจะเป็นร้านใหญ่ ๆ คือแม่น้ำหลายสายก็จริง มีเกาะเมืองก็จริง แต่ไม่เหมือนชัยนาทนะ ถึงจะอ่างทองก็เถอะ หรือปทุมธานี
คือในตัวเมืองชัยนาท แทบจะล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำ เขื่อนเจ้าพระยา คือร้านอาหาร ร้านกาแฟ ทั้งร้านใหญ่ ร้านเล็ก ราคาหลักสิบ/หลักร้อย ก็สามารถอยู่ริมน้ำได้แทบจะโดยรอบเลยมั้ง ไม่ได้มีแค่โซนเดียว แต่วิ่งถนนสายไหนก็จะสามารถไปถึงเส้นริมน้ำได้ ทำให้ผู้คนทั่วไปก็เข้าถึงร้านต่าง ๆ ได้ไม่ยาก ยิ่งที่ทำการราชการ หรือตลาดก็อยู่ในแนวเขื่อนเลย มันก็เลยเป็นจุดยุทธศาสตร์ที่เหมาะนะเราว่า ร้านกาแฟต่าง ๆ นอกจากวิวทุ่งนา ก็จะได้บรรยากาศริมน้ำที่ให้ความรู้สึกร่มเย็นได้ตลอดวัน
จากที่ไปร้านกาแฟมา 4 – 5 ร้าน ก็พยายามสอบถามถึงกลุ่มลูกค้า ด้วยเป็นช่วงโควิดระยะ 1 – 2 ข้อมูลก็ยังไม่ชัดเจนนัก แต่คำตอบส่วนมากก็บอกว่าเป็นนักเดินทางที่มาจากจังหวัดใกล้เคียง นครสวรรค์ สิงห์บุรี อุทัยธานี หรือ กทม. และก็คนในพื้นที่เอง นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่ต้องพูดถึง แต่ก็มีข้อมูลได้ยินมาบ้างว่า เคยมีกรุ๊ปทัวร์จีนมาอยู่บ่อย ๆ นำมาจากผู้ประกอบการ บ.ทัวร์ ที่มีอยู่เพียง 4 รายในชัยนาท และบางข้อมูลก็บอกว่าทัวร์จีนมีมาเรียนคอร์สโยคะที่ อ.สรรพยาด้วย ก็น่าสนใจ
แผนพัฒนาการท่องเที่ยวของจังหวัด
ได้อ่านทั้งแผนพัฒนาจังหวัด และแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัด
แผนพัฒนาจังหวัดให้การเกษตรเป็นความสำคัญในอันดับต้น ๆ ส่วนประเด็นยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวเป็นความสำคัญอันดับสุดท้าย ก็ไม่แปลก เพราะด้วยศักยภาพด้านการเกษตรที่เป็นจุดแข็งของจังหวัด แต่จากที่ได้สัมผัส เราก็เห็นว่าผู้บริหารของจังหวัดให้ความสำคัญในการจัดสรรงบประมาณสนับสนุนการท่องเที่ยวด้วย ยิ่งทำให้ต้องคิดว่าจะทำอย่างไรให้การท่องเที่ยวเป็นตัวสร้างรายได้ให้กับจังหวัดได้
ในส่วนของแผนพัฒนาการท่องเที่ยวจังหวัด ที่มีการเขียนไว้ตั้งแต่ ปี 2560 ซึ่งแน่นอนว่าข้อมูลหลายอย่างก็ไม่เป็นปัจจุบันแล้ว แต่ก็มีร่องรอยอดีตให้ได้ศึกษา ท่องเที่ยวมุ่งเน้นที่พัฒนาจากฐานของชุมชนและการเกษตร แต่ด้วยการวิเคราะห์ศักยภาพของจังหวัดในช่วงนั้น ก็พบจุดอ่อนและอุปสรรคหลายประการ ทั้งเป็นจังหวัดที่ไม่มีการท่องเที่ยวที่โดดเด่น แหล่งท่องเที่ยวทรุดโทรม ตลอดจนบุคลากรด้านการท่องเที่ยว และการตลาดการประชาสัมพันธ์ต่าง ๆ แต่ในแผนพัฒนาจังหวัดฉบับนี้ เราไม่เห็นถึงแผนงานโครงการที่เป็นรูปธรรมในแผนเลย
ก็ให้คิดว่าอยากเอาแผนฯ มาทบทวนตามสถานการณ์ปัจจุบัน แล้วแตกกลยุทธ์ออกเป็นแผนงานโครงการ ก็จะลองเสนอดู ไม่รู้ว่าจะมีใครเห็นด้วยมั้ย หลายคนกลัวว่าแผนจะขึ้นหิ้งและอาจไม่มีประโยชน์แหละ แต่ถ้าเราทำ เราตั้งใจจะผลักดันและทำในรูปแบบที่กิดประโยชน์ให้ได้เท่าที่เราจะทำได้นะ
เราคิดว่ามันมีประโยชน์นะ เราจะไม่มานั่งเทียนเขียนคนเดียวแน่ ๆ เราอยากฟังทุกภาคส่วนแบบจริง ๆ จัง ๆ ว่าเขาอยากให้ทิศทางท่องเที่ยวชัยนาทไปทางไหนหลังสถานการณ์โควิด เพราะเราเห็นภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่นี่ก็เข้มแข็งไม่น้อยนะ น่าจะจับต้องอะไรเป็นรูปธรรมได้อยู่ล่ะน่าา
เพราะยังไงซะ ต่อให้ไม่มีแผนฯ ระยะยาวที่ชัดเจน เวลารายปีเราก็ต้องเขียนโครงการเสนออยู่แล้ว ถ้าไม่ได้มีการทำแผนระยะยาวไว้ก่อน ถึงคราวรายปี (ที่ระยะเวลาการเขียนมีแค่ 1 – 2 วัน) เราก็จะต้องเขียนแบบนั่งเทียนเองเออเอง ในพื้นที่ต้องการแบบนั้นหรือเปล่าก็ไม่รู้ สู้ทำไว้ก่อนไม่ดีกว่าเหรอ ในช่วงที่ยังพอมีเวลา แม้ว่าปี 2565 อาจเสนอไปแล้ว ก็ไม่เป็นไรไว้ใช้ปี 2566 ก็ยังดี เอาเป็นว่าจะลองเสนออันนี้ดู
เพราะในปีนี้ 2564 ก็มีโครงการที่เป็นอีเว้นท์ เป็น activity เยอะพอสมควรละ ที่ต้องทำแบบเปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้มากนัก ที่เห็น ๆ ก็มีหลายโปรเจคแล้วล่ะ แล้วถ้าให้เราคิดจะทำอีเว้นท์อีกก็บอกตามตรงว่าไม่อยากคิดเองเออเอง การทำแผนฯ จะทำให้เราได้ยินเสียงเครือข่ายคนพื้นที่จริง ๆ ด้วยล่ะ
Slow Tourism
พอเห็นพื้นที่ชุมชนและแหล่งท่องเที่ยวของชัยนาทแล้ว ให้นึกถึงคำว่า Slow Tourism คำจำกัดความที่ลอยมาในหัวคือ การท่องเที่ยวแบบดื่มด่ำและเนิบช้า ที่จริงเดี๋ยวนี้ประเภทการท่องเที่ยวมีศัพท์ต่าง ๆ ผุดขึ้นมาใหม่เต็มไปหมด อีกหลายประเภทก็แล้วแต่จะว่ากันไป
แต่ถ้าจะดูความหมายแบบอ้างอิงในเชิงทฤษฎีล่ะก็ Slow Tourism ก็คือการท่องเที่ยวที่ไร้ความเร่งรีบ ประมาณว่าเน้นให้มีประสบการณ์และสัมผัสกับวิถีชีวิตของคนในท้องถิ่นแบบเจาะลึก จากประสาททั้ง 5 รูป รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ตรงกันข้ามกับการไปเที่ยวแบบชะโงกทัวร์เลย เป็นการท่องเที่ยวที่ไม่ได้เน้นปริมาณของสถานที่ แต่เที่ยวโดยเรียนรู้และตระหนักถึงมิติสิ่งแวดล้อมและวัฒนธรรมของชุมชนนั้น ๆ ด้วย (Cook, Yale, and
Marqua, 2010: 336; Matos, 2004: 95-96; Woehler, 2004:90; ราณี อิสิชัยกุล และ ชัชพล ทรงสุนทรวงศ์, 2553: 13; ชนินทร์ อยู่เพชร, 2555: 5) ซึ่งจริง ๆ การท่องเที่ยวประเภทนี้มีคนพูดถึงไว้เยอะและนานมากแล้ว
นอกจากนี้ในงานของชลดรงค์ ทองสง, 2558 ยังพูดถึงแนวคิดของ Slow Tourism ไว้ 10 ประการ โดยเฉพาะ Slow Life คือ การท่องเที่ยวท่ามกลางความสงบในธรรมชาติและวิถีชีวิตความเป็นชนบท
แต่เอาจริง ๆ เราก็ยังไม่ได้ศึกษาลึกกว่านี้นะ เรื่อง Slow Tourism อันนี้ดูผิว ๆ แบบรีบ ๆ ก่อน เราว่าน่าสนใจ น่าหาข้อมูลเพิ่ม ให้รู้ว่าลูกค้ากลุ่มนี้ของเราอยู่ที่ไหน และเขาต้องการแบบไหนในพื้นฐานแบบนี้ แล้วเราจะทำอะไรได้บ้าง
คือจริง ๆ ถ้าในมุมนักท่องเที่ยว เราว่าเราเป็นกลุ่มนี้นะ 555 เราเคยบอกผู้บังคับบัญชาเราล่ะ ตอนคุยถึงว่าใครจะมาเที่ยวชัยนาท พอเราบอกกลุ่มประมาณนี้ ก็มีคำถามนึงที่ว่า “แล้วไอ้กลุ่มนี้จะมีสักกี่คน?” 555 เราว่ามีเยอะนะ ไว้จะหาข้อมูลอ้างอิงนะคะ คือไม่แปลกที่คนส่วนมากเวลาพูดถึงนักท่องเที่ยว มักจะมองกลุ่ม mass กลุ่มเที่ยวตามกระแสหลัก แต่วันนี้ถ้าเราไม่ใช่สำหรับคนกลุ่มนั้น เราจะไปฝืนทำไม พัฒนาจากจุดที่เราเป็นดีกว่ามั้ยล่ะ เราว่ามันไปได้นะ ไปได้ดีด้วย
ติดตามตอนต่อไป ดูสิว่าเราจะค้นหาคำตอบอะไรได้เพิ่ม
Happy Valentine’s Day
at 00.05 am.
Leave a Reply