เราได้เรียนรู้อะไรจากความขัดแย้ง

ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้น สร้างการเรียนรู้ขึ้นเสมอ อยู่ที่เราจะหยิบยกมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ได้หรือไม่

เรื่องราวความขัดแย้งก็เช่นกัน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลหรืออารมณ์ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ผ่านไป 1 นาที ก็เป็นอดีต รีบจัดแจงสติตัวเอง ตั้งอยู่กับปัจจุบัน แล้วตอบตัวเองให้ได้ว่า เราได้เรียนรู้อะไรจากเหตุการณ์เหล่านั้น

แน่นอนว่า ความไม่สบายใจ เป็นความรู้สึกแรก ๆ ที่เรารู้สึก ไม่ว่าเราจะเป็นต่อหรือเป็นรองในการถกเถียงครั้งนั้น นั่นหมายความว่า ความสงบสุข (ไม่ว่าจะเป็นทางจิตใจลึก ๆ หรือต่อหน้าสาธารณชน) กับความขัดแย้ง เป็นคู่ขนานกันเสมอ

และเราก็เชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดความขัดแย้ง แต่นั่นแหละนะ ทั้งหมดทั้งปวง ก็มีเหตุปัจจัยนานาต่างกันไป หากแต่มัวค้นสาเหตุ ก็มิอาจพ้นการโทษคนนั้นคนนี้ หรือแม้แต่ตัวเราเอง ก็ไม่รู้เลยว่าครั้งใดที่เราเป็นสาเหตุหลักของเรื่องราวใดเรื่องราวหนึ่งหรือเปล่า

เอาเถอะน่า ในเมื่อครั้งนี้ สิ่งที่เกิดขึ้น ผ่านไปแล้ว เราจะจัดแจงกับจิตใจเราอย่างไร (เพราะเราไปจัดแจงกับคนอื่นไม่ได้ทั้งหมด) 

  1. แยกแยะระหว่าง “ข้อเท็จจริง” กับ “อารมณ์/ความรู้สึก” เราอาจถกเถียงหยิบยกประเด็นโน้นประเด็นนี้ขึ้นมา แต่ข้อเท็จจริง มีอยู่ไม่กี่ข้อหรอก
  2. ลองทำความเข้าใจ ในฝั่งของคนที่ถกเถียงหรือเห็นต่างกับเราดูสิ แน่นอนว่าในใจเราก็จะคิดว่า เขาเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ เขานั่นล่ะ ๆ ต้องวางสิ่งนั้นไว้ก่อน เชื่อเหอะ เขาก็เป็นทุกข์หรือไม่สบายใจเหมือนกัน ไม่มากก็น้อย หากเราไม่เข้าใจกับสิ่งที่เขารู้สึกจริง ๆ ก็ไม่ต้องฝืน ปล่อยไป
  3. move on กับความรู้สึกแย่ ๆ นั้นให้เร็ว เพราะเรารู้แล้วนี่ อะไรคือข้อเท็จจริง เราต้องการอะไร เขาต้องการอะไร แล้วอะไรที่เกิดขึ้นที่เป็นเนื้อหาจริง ๆ แล้วมีอะไรที่แก้ไขได้บ้าง อะไรแก้ไขไม่ได้ก็ช่างมัน ทำในสิ่งที่เราทำได้ เพราะเราจะเจอคนหรือเหตุการณ์ที่ไม่เป็นดั่งใจเราเสมอแหละ ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน เป็นเรื่องปกติธรรมดา

สิ่งที่เราได้เรียนรู้น่ะเหรอ

  1. ผู้หวังดี มักปรากฎตัวลับหลังอีกฝ่ายเสมอ 555 หากใจไหวเอน เราอาจมองไม่เห็นข้อเท็จจริงของเรื่องราวนั้น เพราะผู้หวังดีมักเข้ามาแบบเปี่ยมล้นด้วยความเห็นใจ เข้าข้างเรา แล้วมุ่งว่าอีกฝ่าย หรือโยงโน่นนี่นั่นเข้ามาให้เราได้คิด ได้ปะติดปะต่อ แล้วเราจะจมดิ่งกับความรู้สึกว่าอีกฝ่ายนั่นล่ะผิด แล้วก็รู้สึกดีอยู่ชั่วขณะว่ามีคนเห็นใจ เข้าข้างเรา แต่ช้าก่อน พินิจพิจารณาดูให้ดี ผู้หวังดีมีหลายระดับ บางครั้งอาจเห็นใจเราจริง แต่บางครั้งอาจรอซุ่มโจมตีอีกฝ่าย หรือบางทีเขาก็ไม่ได้มีพิษสงอะไร เพียงแต่วุฒิภาวะของแต่ละคนก็จะไม่เท่ากัน การมองเหตุการณ์ก็ต่างกัน จงใช้ประสบการณ์ ความรู้ และวิจารณญาณของตัวเองให้มาก
  2. ผู้หวังดีฝ่ายโน้นก็มีนะ เราไม่อาจรู้เลย ว่าอีกฝ่ายมีคนเข้ามาเข้าข้างหรือยุแยงแบบที่เราเจอมั้ย แล้วฝ่ายนั้นจะเลือกจมดิ่งหรือแยกแยะ ก็มิอาจรู้ได้ แต่แค่ตระหนักไว้นิด ๆ แล้วก็ช่างมันเถอะ มันคือปัจจัยภายนอกที่เราควบคุมไม่ได้
  3. อย่าไปตามเกมใคร ต้องมีสติ ชั่งใจให้ดี กับสถานการณ์ในวันต่อ ๆ ไป ระงับอารมณ์ให้ได้ อย่าตกหลุมพราง ที่จะทำให้ใครต่อใครเข้าใจเราผิด ก็ใช่ ที่ว่าไม่จำเป็นต้องให้ใครเข้าใจเราทั้งหมด แต่ก็ไม่ควรสร้างผลกระทบเชิงลบให้เกิดขึ้นกับตัวเราบ่อยนัก
  4. สังคมมันก็เป็นอย่างนี้แหละ ใครแกร่งก็ยืนอยู่ได้ ใครอ่อนแอก็แพ้ไป กลยุทธ์การออกศึกสงครามยังต้องมีนำมาใช้ ออกจากบ้าน ก็ไม่ต่างจากไปสนามรบแหละ เพียงแต่จะน่ากลัวกว่าสงครามในอดีต ที่จะรู้ชัดว่าใครตั้งตัวเป็นศัตรู แต่ทุกวันนี้ ฉากหน้าทุกคนเป็นมิตรกับเราหมดแหละ ทำได้แค่ระวังตัว ไม่ถึงกับมองโลกในแง่ร้าย แต่ก็ไม่ควรโลกสวยจนตกเป็นเหยื่อสังคมและผู้คน
  5. เดี๋ยวมันก็ผ่านไป ไม่มีมิตรแท้และศัตรูถาวร ยังคงเป็นวลีที่ใช้ได้ตราบนิรันดร์แหละนะเราว่า
  6. สำหรับตัวเราเลย คงเป็นเรื่องอารมณ์แหละ บางครั้งคิดว่าเรากล้าแสดงความคิดเห็น พูดในสิ่งที่คิด เป็นความจริงใจ แต่บางครั้งก็ไม่ได้มีประโยชน์มากนัก หรืออาจทำได้ เพียงแค่ปรับวิธีเล็กน้อย นิ่งให้มาก นิ่งให้ลึก ให้คนเข้าไม่ถึงได้ยิ่งดี

สู้ต่อไปเช้าวันจันทร์ที่สดใส

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *